4 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย หรือ สรยท. จับมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า” ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ ซึ่งในงานนี้ได้รับเกียรติจากคุณขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะของประธานในพิธี โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสมาชิกของสมาคม และบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมรับฟัง ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-5 อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี
ในปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้า หรือ BEV ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างฉับพลันทันใดนับจากที่มีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามานำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่ๆ กันอย่างต่อเนื่องในตลาดเมืองไทยนับจากปี 2022 ซึ่งทางสมาคมฯ เองได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ในปี 2023 จึงได้ขยายการจัดงานรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปี หรือ Thailand Car Of The Year เพื่อรองรับกับทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยการมอบทั้งรางวัลสำหรับรถยนต์สันดาปภายใน/ไฮบริดสำหรับรางวัล Thailand Car Of The Year และได้เพิ่มอีกประเภทคือ รางวัล Thailand EV Of The Year สำหรับรถยนต์พลังไฟฟ้าที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกของทางสมาคมฯ
“สมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้ แก่ผู้ใช้รถยนต์ในยุคที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงานสะอาด จึงผสานความร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการจัดเสวนาให้ความรู้ในครั้งนี้” นายสุรศักดิ์ จรินทร์ทอง นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) กล่าว
“รถยนต์ไฟฟ้ากำลังถูกพัฒนาและนำเสนอเข้าสู้ตลาด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ใช้รถ นอกเหนือจากรถยนต์สันดาปภายใน และอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาทดแทน ด้วยเหตุผลในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เห็นได้จากตลาดรถยนต์ไทยในปัจจุบันที่มีอัตราการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้เป็นโอกาสอันดี สมาคมฯ จึงจัดงานเสวนาให้ความรู้ด้านต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ในหัวข้อ “เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า” เพื่อสื่อสารองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าไปยังผู้บริโภค โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า มาเป็นผู้บรรยายให้ความกระจ่างแก่สังคม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัว นำไปสู่การใช้งานยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ในโอกาสภายภาคหน้าต่อไป”
สำหรับวิทยากรในการเสวนาครั้งนี้นับเป็นการร่วมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงจากผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ซึ่งในช่วงแรกเป็นการให้ข้อมูลภาพรวมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยโดยคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ซึ่งในปัจจุบัน ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกช่วงไตรมาส 4 ของปี 2024 อยู่ที่ 12.60% ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ส่วนในตลาดอาเซียน ไทยถือเป็นตลาดใหญ่ของรถยนต์พลังไฟฟ้า โดยในปี 2023 ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 78.70% ทีเดียว
“ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 600% หรือราว 76,000 คัน คิดเป็น 10% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมดของประเทศในปีที่ผ่านมา การเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งสามารถสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่มุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่าในปีนี้ ผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การผลิตและการใช้รถยนต์ในประเทศลดลง แต่สัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราวๆ 13-14% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในปีนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความต้องการของผู้ใช้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และความท้าทายด้านการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต”
ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี 2024 จากยอดจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึง 31 ตุลาคม รถยนต์ไฟฟ้ามียอดจดทะเบียนรวม 82,218 คัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งโดยสารซึ่งมีตัวเลขถึง 59,759 คัน แต่แม้ว่าจะมีการขยายตัวของตลาด แต่ในแง่ของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับกับการใช้งาน เช่น สถานีชาร์จสาธารณะยังเป็นเรื่องที่จะต้องมีการขยายตัวตามไปด้วยเพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราส่วนรถยนต์ไฟฟ้าต่อแท่นชาร์จสาธารณะอยู่ที่ 26 คันต่อ 1 หัวชาร์จ ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนที่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 5.5 คันต่อ 1 หัวชาร์จ
ส่วนเรื่องของระบบการชาร์จเป็นการให้ข้อมูลโดย คุณอภิสิทธิ์ ณัฐวรวโรตม์ สถาปนิกระดับ 8 ทีมพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT ผู้แทนจากทีม EGAT EV Business Solutions ซึ่งดูแลในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชัน EleXa แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับชุมชน EV เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของการเดินทางในอนาคต ร่วมให้ข้อมูลถึงยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กฟผ.ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาพื้นฐานโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย จึงมุ่งเน้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถ EV หรือ ผู้ที่กำลังตัดสินใจเลือกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า EV ผ่านการดำเนินงานภายใต้ EGAT EV Business Solutions ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีสถานีชาร์จ “EleX by EGAT” ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN EV” และ EV Application “EleXA” รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายแอปพลิเคชันการจัดการสถานีชาร์จ EV ซึ่งปัจจุบันมีการแชร์และแสดงผลข้อมูลร่วมกัน ทั้งสถานีชาร์จของ กฟผ. MEA PEA PT TOR EA ReverSharger และ GWM เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศด้วยการถือเพียงแผนที่เดียวก็สามารถเห็นสถานะปัจจุบันของทุกสถานีชาร์จดังกล่าวได้ เพื่อลดจำนวนการติดตั้งแอปพลิเคชันจำนวนมากบนสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้กับเจ้าของรถยนต์ BEV ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางด้วยแบตเตอรี่ ที่ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ทุกที่ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศไทย
ในช่วงท้ายของการเสวนาเป็นการถาม-ตอบในหัวข้อ “เช็คลิสต์ความพร้อม การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า” โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น คุณสุรมิส เจริญงาม อุปนายก สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย ให้ความเห็นว่า “ความคุ้มค่า นโยบาย EV 3.0 ต่อเนื่องด้วย EV 3.5 มีส่วนกระตุ้นการเปลี่ยนมาใช้รถยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก จุดชาร์จกับสถานีชาร์จถ้าย้อนกลับไป 2 ปีที่เเล้วมีส่วนสำคัญ ที่ทำให้คนที่สนใจ บางส่วนชะลอการตัดสินใจ แต่ถึงปัจจุบันสัดส่วนจำนวนจุดชาร์จไฟ กับจำนวนรถไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่พร้อมและจำเป็นต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ มีการตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มที่มีรูปแบบการใช้รถครบตามเช็คลิสต์ ในงานเสวนาในครั้งนี้ น่าจะทำให้ตัดสินใจ ได้ง่ายมากขึ้น”
รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “ในปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการเเข่งขันกันสูง ถ้าซื้อวันนี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการใช้รถยนต์สันดาปแน่นนอน เเต่รถยนต์ไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะจำหน่ายในราคาที่ถูกลงได้อีกเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอย่างรวดเร็ว เรามั่นใจยี่ห้อที่เราต้องการซื้อตอนนี้ ในโลกเราพูดถึงการชาร์จไฟเเบตเตอรี่ 800 โวลต์ กันเเล้ว ไม่ใช่เเค่ 400 โวลต์ นั้นหมายถึงเราทำความเข้าใจ ต้องมีความรู้ในเรื่องการใช้ มันมีทั้งข้อดีเเละข้อเสีย ในส่วนของผู้ประกอบการก็ต้องให้ข้อมูลผู้ซื้อให้ครบถ้วน ถ้าถามผมคือ ตัดสินใจซื้อเเล้วต้องใช้ยาวๆ เเละยอมรับในเรื่องของราคาที่อาจจะถูกลง”
นายตติยะ หลิมวิจิตร กรรมการ และเลขานุการ คณะทำงานฝ่ายข้อมูลการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า “ในส่วนของอุตสาหกรรมอะไหล่ คนที่ตัดสินใจซื้อรถ 1 คัน ไม่ได้มองว่าซ่อมเเค่ศูนย์ เเต่เมื่อหมด warranty เเล้วเเน่นอนว่าก็จะต้องซ่อมข้างนอกศูนย์บริการ ฉะนั้นในการให้ความรู้ อบรมช่างนอกศูนย์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการอบรม เพราะถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าเเล้วศูนย์ข้างนอกซ่อมไม่ได้มันจะเป็น pain point หรือจุดบอดที่ใหญ่อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้จับมือกับทั้งภาครัฐเเละเอกชน ในการจัดงานอบรมความรู้ช่างซ่อมบำรุง ไม่ว่านะเป็นการจับมือกับค่าย MG เเละวิทยาลัยเทคนิคเฉิงตู”
ต่อด้วย ดร.มานพ มาสมทบ ทีมวิจัยระบบกักเก็บพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) “ในส่วนของล้อ เป็นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ล้อโดยปกติรถยนต์สันดาปไม่ว่าเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลจะสึกหรอช้ากว่ายางที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า ฉะนั้นการเช็คสภาพล้อก่อนออกเดินทาง เป็นสิ่งสำคัญของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยรวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของพื้นที่บ้าน ที่จะต้องรับน้ำหนักรถซึ่งมาพร้อมเเบตเตอรี่ที่จะหนักกว่ารถยนต์ขนาดเดียวกัน 300 – 500 กิโลกรัม รวมถึงเรื่องความกังวลใจในประเด็นถ้ารถจมน้ำหรือน้ำท่วมแบตเตอรี่จะกระทบอะไรไหม จริงๆ เเล้วเเบตถูกออกเเบบมา ให้กันน้ำได้ระดับหนึ่งอยู่เเล้ว”
นายกฤษฎา ธีรศุภลักษณ์ KOL ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ช่อง Welldone Guarantee กล่าวว่า “เทคโนโลยี กับ อุตสาหกรรมรถยนต์ มันถูกรวมอยู่ด้วยกันเเล้วกลายเป็นรถไฟฟ้า EV ฉะนั้นมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ การที่จะทำให้คนเปลี่ยนมาใช้รถอีวีมาเป็นรถยนต์คันต่อไป ส่วนตัวผมคิดว่า ผู้ใช้รถปัจจุบันอยากขายคันเดิม เเล้วซื้อคันใหม่ ฉะนั้นตลาดมือสองเป็นตัวขับเคลื่อนให้ตลาดมือหนึ่งเดินหน้าไปต่อ เพราะคนอยากขายสินทรัพย์ที่มีเอามาเป็นทุน เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมรถยนต์ตลาดมือหนึ่งยังไปต่อได้ เเต่ในภาพรวมอาจไปเเบบไม่เต็มที่ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดมือหนึ่งชะลอตัว”
โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนาในครั้งนี้
ตลอดช่วงของการถาม-ตอบ วิทยากรทั้งหมดต่างไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นประเด็นอยู่ ทั้งเรื่องของการชาร์จ การขับรถลุยน้ำท่วม การเลือกซื้อยางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การเซอร์วิส
รถยนต์ไฟฟ้าหลังจากที่จมน้ำ การรับประกันจากบริษัทรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้ากับตลาดมือสอง สงครามราคา หรือเรื่องเกี่ยวกับประกันภัย และอีกหลายประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก หรือผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว
สามารถติดตามงานเสวนาที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าได้กับทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังมีกิจกรรมของทางสมาคมที่น่าสนใจให้บุคคลทั่วไปได้เพิ่มองค์ความรู้ ในด้านการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทางสมาคมฯ ร่วมกับ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จํากัด เเละมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กำลังเปิดรับสมัครบุคคลที่สนใจเข้าร่วมงานอบรมช่างซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะมีขึ้น วันที่ 16 – 20 ธันวาคม พ.ศ. 2567 นี้
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand)
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี คุณสุโรจน์ เเสงสนิท ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 390 ราย โดยทางสมาคมมีการกำหนดการจัดการประชุม ในทุกๆเดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่างๆเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th